โรงเรียนดาวรุ่งวิทยาเป็นโรงเรียนคาทอลิก ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 31 ถนนเจ้าฟ้า อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 40 ไร่เศษ เดิมเป็นที่ดินของจีนฮุดอิ้ว (จ.ศ. 128) ต่อมาได้ขายให้กับจีนเจี่ยกี่เต็ก แล้วได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 111 เมื่อวันที่ 25 พศจิกายน พ.ศ. 2457 มีจำนวนเนื้อที่ดิน 6 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา และต่อมาปี พ.ศ. 2471 ได้ขายให้กับมิสเตอร์แยกโฟ เล็ทตี้ และในปีเดียวกันนี้เอง ได้ขายต่อให้กับบริษัท ระเงงตินไลเอบิลิตี้ เป็นสำนักงานและบ้านพักเรือนไม้ 2 ชั้น รวม 4 หลัง บริษัทได้ดำเนินกิจการเรือขุดแร่ตลอดมา จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2484 จึงได้ละทิ้งกิจการและอพยพหนีกลับประเทศ รัฐบาลไทยจึงเข้าควบคุมทรัพย์สินของชนต่างด้าวทั้งหมด เมื่อสงครามสงบรัฐบาลได้คืนทรัพย์สินให้ แต่บริษัท ระเงงตินฯ ไม่ขอรับทรัพย์สินคืนเพียงแต่ให้รัฐบาลจ่ายเงินทดแทนให้ โดยมีกรมโลหกิจกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินแทนรัฐบาลไทย
พ.ศ. 2496 รัฐบาลไทยได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินฯ ที่ดิน โฉนดที่ดินที่ 111 เนื้อที่ 6-2-52 ไร่ โดยบริษัทอนุภาษและบุตร จำกัด เป็นผู้ประมูลได้ ต่อมาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2497 บริษัทอนุภาษและบุตร จำกัด (นายสุนทร โสดาบรรลุ โดยรับมอบอำนาจจากนายวิรัช หงษ์หยก ประธานกรรมการ บ.อนุภาษและบุตร จำกัด) ได้ขายให้นายสงวน - นางซิวยิ่ง บิดา-มารดา ของนายปีเตอร์ สิทธิอำนวย เพื่อให้นายปีเตอร์ จัดตั้งสถาบันการศึกษา แต่มีสามารถดำเนินการได้ ประจวบกับคณะบาทหลลวงมิสซังโรมันคาทอลิก มีความประสงค์ จะจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในจังหวัดภูเก็ตเช่นกัน และนายปีเตอร์ สิทธิอำนวย จึงได้มอบให้ ฯพณฯ สังฆราช เปโตร คาเร็ตโต ประมุขมิสซังโรมันคาทอลิกเป็นผู้ดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ให้นายปีเตอร์เป็นเจ้าของโรงเรียนในนาม ให้นายศิลป์ ทองตัน เป็นผู้จัดการ และให้บาทหลวง ลีโน อินามา และบาทหลวงเอจีดีโอ ไอรากี เป็นอธิการและรองตามลำดับ และนายประสงค์ ประทีป ณ ถลาง เป็นครูใหญ่ โดยทำการเปิดสอนและรับเฉพาะนักเรียนชาย ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 มีชั้นประถม 1 จำนวน 3 ห้องเรียน และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 3 ห้องเรียน และได้เปิดสอนเฉพาะภาษาอังกฤษ โดยมีบาทหลวงโจเซฟ เอ็ดเวอร์ด ฟลัด บาทหลวงร็อคโก เจ เลโอติโล บาทหลวงชาร์ล นารานโจ และบาทหลวงเอจีดีโอ ไอรากี เป็นอาจารย์สอน เปิดได้ 2 ปี จึงปิดการสอน ต่อมาวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2518 นายปีเตอร์ สิทธิอำนวย ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 111 ให้ ฯฑณฯ สังฆราชเปโตรคาเร็ตโต และในปีเดียวกันนี้เองทางมูลนิธิฯ ได้ซื้อโฉนดที่ดินเลขที่ 113 และ 114 รวม 2 แปลง ซึ่งติดกับที่เดิมโฉนดเลขที่ 111 ที่มีอยู่ก่อนแล้ว รวมเนื้อที่ดินทั้งสิ้นประมาณ 39 ไร่เศษ และวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 นายปีเตอร์ สิทธิอำนวย ได้โอนกิจการทั้งหมดให้ ฯฑณฯ สังฆราชเปโตรคาเร็ตโต เป็นเจ้าของโรงเรียน ในนามมูลนิธิฯ และแต่งตั้งให้บาทหลวงโจเซฟ เอ็ดเวอร์ด ฟลัด เป็นอธิการ นายกิจจา อนิวรรตน์ เป็นผู้จัดการ และนายนิวัฒน์ เกษตริยะ เป็นครูใหญ่ ในปีนี้เองได้เริ่มรื้อถอนอาคารเรียนไม้จำนวน 2 หลัง ก่อสร้างตึกคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น และพัฒนาโรงเรียนจนเจริญรุดหน้าอย่างดีตลอดมา ผลการเรียนนักเรียนดีเด่น จนกระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยะฐานะเทียบเท่ารัฐบาล ในปี 2503 นับเป็นเกีรติประวัติที่น่าภูมิใจยิ่ง
ปี พ.ศ. 2523 คณะศิษย์เก่าโรงเรียนดาวรุ่งวิทยา นำโดย นายพรหมินทร์ หงส์บุตร (เบ่งอู่ อิทธิศักดิ์) ได้ขอยื่นเรื่องราวจัดตั้ง “สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนดาวรุ่งวิทยา” ต่อทางราชการเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2523 และได้รับอนุญาตจดทะเบียน ณ หอทะเบียนภูเก็ต เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 สมาคมได้ดำเนินกิจการเพื่อสาธารณะประโยชน์ตลอดมานับเป็นความสำเร็จอีกระดับหนึ่ง
ปีการศึกษา 2540 โรงเรียนได้มีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การได้รับความช่วยเหลือจากคณะซิสเตอร์ผู้รับใช้ดวงหทัยนิรมลฯ ได้มอบหมายให้ซิสเตอร์ศรีเวียง อาภรณ์รัตน์ มาเป็นครูใหญ่ของโรงเรียน ซิสเตอร์ได้มาช่วยเหลือ ปรับปรุง พัฒนาในส่วนต่างๆ ของโรงเรียน ระบบการบริหารงาน งานวิชาการ กิจการนักเรียน อาคารสถานที่ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ การดูแลเอาใจใส่นักเรียนให้มีระเบียบวินัย กิริยามารยาทที่เรียบร้อย สัมมาคารวะ มีคุณธรรม จริยธรรมในชีวิตของนักเรียน เพื่อให้พวกเขาเจริญเติมโตขึ้นอย่างมีคุณภาพในสังคม สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข
สืบเนื่องจากการปรับปรุง พัฒนาโรงเรียนในด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง ทำให้เห็นความเจริญเติมโต ความก้าวหน้าของโรงเรียนอย่างเด่นชัด ทำให้โรงเรียนเป็นที่ไว้วางใจและยอมรับของผู้ปกครองมากขึ้น จึงทำให้ต้องมีการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ และปรับปรุงสถานที่เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นทุกปี